ในปี พ.ศ. 2473 มีการสร้างหนังเรื่อง “รบระหว่างรัก” โดยขุนวิจิตรมาตรา เป็นผู้แต่งเรื่อง เขียนบทและกำกับการแสดง เรื่องนี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก ทั้งด้านคำชมเชย และด้านของรายได้ ในปี พ.ศ.2476 ฮอลลีวู๊ดนิยมทำหนังผี ศรีกรุงก็ทำหนังผีเรื่อง “ปู่โสมเฝ้าทรัพย” เป็นบทประพันธ์ของขุนวิจิตรมาตรา และยังกำกับการแสดงเองอีกด้วย เรื่องนี้ถือเป็นการเริ่มการแต่งกายที่เข้าสู่แบบสากลมากขึ้น เพราะเป็นยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เวลานั้นได้เกิดเพลงไทยสากลขึ้นมาเป็นครั้งแรก อย่างเพลง “กล้วยไม้” และเป็นหนังไทยเรื่องแรกที่ทำเป็นสี เรื่อง “หลงทาง” ที่ถ่ายทำด้วยระบบซิงเกิ้ลซิสเต็ม คือ การถ่ายภาพกับเสียงในกล้องเดียวกัน

การถ่ายทำในระบบนี้จะมีปัญหาทางด้านของเทคนิค เวลาล้างฟิล์มและตัดต่อเป็นอย่างมาก ฝรั่งคิดทำระบบดับเบิ้ลซีสเต็ม คือถ่ายภาพกล้องหนึ่ง ถ่ายเสียงกล้องหนึ่งแยกกัน แต่มีเครื่องไฟฟ้า ทำให้เดินกล้องได้พร้อมกันทั้งสองกล้อง เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ศรีกรุงได้คิดปรับปรุงได้สำเร็จเช่นกัน จากนั้นมาบริษัทศรีกรุง ก็เปลี่ยนชื่อมาเป็น เสียงศรีกรุง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระองค์ทรงดำริที่จะให้มีสถานที่มหรสพอันทันสมัย ทัดเทียมกับต่างประเทศขึ้นสักแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เพื่อให้เป็นที่อำนวยความบันเทิงเริงรมย์แก่ประชาชนทั่วไป และเป็นที่เชิดหน้าชูตาของเมืองไทยด้วย หลังจากที่ทรงตรวจสถานที่แล้วทรงเห็นว่าตรงถนนเจริญกรุงตัดกับถนนตีทอง เหมาะสมที่สุดเพราะเป็นที่เด่นอยู่ตรงหัวมุมพอดีและได้ทรงประกอบพระราชพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2473 แล้วพระราชทานนามว่า “ศาลาเฉลิมกรุง” โดยมีหม่อมเจ้าสมัยกฤดากร ทรงเป็นผู้ออกแบบ บริษัทบางกอกทำหน้าที่รับเหมาก่อสร้าง

เมื่อดำเนินการก่อสร้างเสร็จ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ เจ้าพระจาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี (ม.ร.ว.มูล ดารากร) ประกอบพิธีเปิดแทนพระองค์เมื่อ วันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2476 ภาพยนตร์เรื่องแรกที่ทำการฉายเปิดเป็นปฐมฤกษ์ก็คือเรื่อง “มหาภัยใต้ทะเล” โดยรายได้ทั้งหมดที่เก็บได้จากค่าผ่านประตูของการชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ในวันนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ส่งไปบำรุงสภากาชาดสยาม โดยมิได้หักค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 โรงภาพยนตร์ ศาลาเฉลิมกรุง นับเป็นโรงภาพยนตร์ชั้น1 แห่งเดียวในประเทศไทย ต่อมาหลังสงความโลกครั้งที่ 2 โรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่และทันสมัย ซึ่งจัดอยู่ในโรงชั้น 1 ของประเทศก็มีผู้สร้างขึ้นมาอีกหลาแห่ง เช่น ศาลาเฉลิมไทย โรงภาพยนตร์คิงส์ โรงภาพยนตร์ควีนส์ โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมเขตร์ และโรงภาพยนตร์เอ็มไพร์ เป็นต้น